KNOWLEDGE

 CERTIFICATES







 
 
ชนิดของเสาเข็มและการเลือกใช้


ชนิดของเสาเข็ม

1. เสาเข็มตอก

          เป็นการนำเสาเข็มลงไปในดินด้วยการใช้น้ำหนักตอกลงบนหัวเข็ม เสาเข็มที่ตอกลงไปจะเข้าไปแทนที่ดินทำให้มีการเลื่อนและเคลื่อนตัวของชั้นดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวราบ การใช้เสาเข็มชนิดนี้จึงเหมาะกับการก่อสร้างที่มีพื้นที่กว้าง และห่างไกลจากอาคารข้างเคียง เสาที่นำมาทำเสาเข็มตอกก็มีหลายชนิดที่ใช้กันอยู่
          1.1 เสาเข็มไม้ ซึ่งใช้กันมานาน การใช้เสาเข็มไม้นั้นจำเป็นที่จะต้องตอกให้เสาเข็มอยู่ใต้ระดับน้ำตลอดเวลา เพื่อกันปลวก มอดหรือแมลงเข้ามาทำลายเนื้อไม้ รวมทั้งอากาศก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เข็มไม้เสื่อมสภาพได้ แต่ในปัจจุบันเสาเข็มไม้ที่ดีมีคุณภาพหายากและมีราคาแพง
          1.2 เสาเข็มเหล็ก ที่ใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเสาเข็มเหล็กรูปตัว H เพราะสามารถทำการตอกลงดินได้ง่าย และรับน้ำหนักบรรทุกได้ดี แต่เสาเข็มเหล็กค่อนข้างจะมีราคาแพงจึงมักจะใช้ในกรณีของการซ่อมแซมอันมีสาเหตุมาจากการทรุดตัวของอาคาร
          1.3 เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จ ซึ่งเป็นเสาเข็มตอกที่นิยมใช้ เสาเข็มประเภทนี้มีด้วยกันหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น เสาเข็มรูปตัวไอ เสาเข็มหน้าตัดสี่เหลี่ยมจัตุรัส เสาเข็มกลวง เสาเข็มรูปตัวที เสาเข็มหกเหลี่ยมกลวง และเสาเข็มแปดเหลี่ยม เป็นต้น

i shape pile square pile

เสาเข็มรูปตัวไอ

เสาเข็มหน้าตัดสี่เหลี่ยมจัตุรัส

          1.4 เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเสาเข็มสปัน เป็นเสาเข็มที่ใช้กรรมวิธีการปั่นคอนกรีตในแบบหล่อซึ่งหมุนด้วยความเร็วสูง ทำให้เนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตที่หล่อโดยวิธีธรรมดา จึงมีความแข็งแกร่งสูง รับน้ำหนักได้มาก เสาเข็มสปันมีให้เลือกใช้หลายขนาด ที่พบเห็นกันมากมีตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 – 100 ซม. มีความหนาของเนื้อคอนกรีตอยู่ในช่วง 6 – 14 ซม. โดยมีความยาวอยู่ในช่วง 6 – 18 ม. ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากเสาเข็มสปันมีลักษณะกลวงจึงช่วยลดการสั่นสะเทือนเวลาตอก และถ้าเสาเข็มที่ใช้ความยาวมาก ก็สามารถลดแรงดันของดินในขณะตอกได้โดยการเจาะนำและลำเลียงดินขึ้นทางรูกลวงของเสา ซึ่งจะช่วยลดความกระทบกระเทือนที่มีต่ออาคารข้างเคียงได้มาก เสาชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้เป็นฐานรากของอาคารสูงที่ต้องการความมั่นคงแข็งแรงสูง เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องลมแรงและการเกิดแผ่นดินไหว

2. เสาเข็มเจาะ

          ใช้งานกันมากในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เช่น บริเวณที่มีการก่อสร้างอยู่ติดกับอาคารข้างเคียง เพราะข้อดีของเสาเข็มเจาะ คือ สร้างความกระทบกระเทือนน้อยต่ออาคารใกล้เคียง แต่ก็มีราคาแพงกว่าเสาเข็มตอกอยู่พอสมควร หลักการของเสาเข็มเจาะนั้นจะใช้วิธีเจาะเอาดินออกมาจนถึงระดับที่ต้องการ โดยใช้ปลอกเหล็กป้องกันดินพังแล้วจึงใส่เหล็กเสริมลงไปและเทคอนกรีตจนเต็มหลุมเจาะ เสาเข็มเจาะเองก็แบ่งออกได้หลายประเภทตามวิธีการทำงานดังนี้
          2.1 เสาเข็มเจาะระบบแห้ง เป็นระบบเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะลึกไม่เกิน 20 ม. (แล้วแต่ระดับชั้นทราย) รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 120 ตันต่อต้น วิธีการก็คือเจาะดินลงไป (แบบแห้งๆ) แล้วก็หย่อนเหล็กเทคอนกรีตลงหลุม ราคาจะแพงกว่าระบบเข็มตอก แต่เกิดมลภาวะน้อยกว่ามาก ทั้งเรื่องการเคลื่อนตัวของดิน ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง และเป็นระบบที่ง่ายไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก จึงนิยมใช้กันทั่วไปในงานก่อสร้าง เช่น บ้านพักอาศัยทั่วไป เสาเข็มเจาะประเภทนี้มีหน้าตัดเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 60 ซม. สำหรับอาคารบ้านเรือนโดยทั่วไปนิยมใช้เข็มเจาะเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 ซม. และ มีความยาว ประมาณ 20 – 30 ม.
          2.2 เสาเข็มเจาะระบบเปียก ทำเหมือนเสาเข็มเจาะแห้ง แต่เวลาขุดดินจะขุดลึกๆ แล้วใส่สารเคมี เช่น Bentonite ลงไปเคลือบผิวหลุมดินที่เจาะ ทำหน้าที่เป็นตัวยึดประสานดินและกันดินไม่ให้พังทลายลงเวลาเจาะลึกๆ (ซึ่งสามารถเจาะได้ลึกกว่า 70 ม.) รับน้ำหนักได้มากและเกิดมลภาวะน้อย แต่ราคาแพง เหมาะกับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่และค่อนข้างซับซ้อน
          2.3 เสาเข็มเจาะแบบ ไมโครไพล์ (Micro pile) เป็นเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 25 ซม. เสาเข็มขนิดนี้แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มักจะมีราคาแพง เนื่องจากใช้เทคนิคที่พิเศษกว่าแบบอื่นๆ ใช้มากในงานซ่อมแซมอาคารหรือต่อเติมบริเวณที่มีพื้นที่ในการทำงานน้อยๆ
          2.4 เสาเข็มเจาะแบบพิเศษ จะคล้ายๆ กับเสาเข็มเจาะระบบเปียกแต่จะมีหน้าตัด รูปแบบต่างๆ แตกต่างกันออกไป เช่น หน้าตัดรูปตัว H รูปตัว T หรือเป็นรูปเครื่องหมายบวก ทำให้เสาเข็มชนิดนี้สามารถรับน้ำหนักได้มากและมีความคงทนมากขึ้น

การเลือกใช้เสาเข็ม

          การเลือกใช้เสาเข็มชนิดไหนนั้นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็น และความเป็นไปได้ของแต่ละระบบในแต่ละงาน โดยนำเงื่อนไขต่างๆ มาประกอบในการพิจารณา เช่น
          1. ราคา
          2. ลักษณะพื้นที่
          3. ลักษณะการใช้งาน
          4. สภาพแวดล้อมรอบข้าง การรบกวน
          5. การขนส่งเข้าหน่วยงาน
          6. เวลา
          7. กฎหมายสำหรับการปลูกสร้างในแต่ละพื้นที่

1    2

 

< Back

 

Home   |   About Us   |   Products   |   Production   |   Knowledge   |   Projects   |   Contact Us
Copyright 2010 SIAM CONCRETE AND BRICK PRODUCTS COMPANY LIMITED. All Rights Reserved.